วันนี้ได้เจ้าตะเกียงเจ้าพายุเก่าๆ มาหนึ่งตัว สภาพดิบๆ ไม่ได้ล้าง คือยี่ห้อ Col-Max ผลิตโดยโรงงาน Coleman Kerosene Lanterns 1939-1970 ได้มาในราคาเพื่อนๆกัน ทีนี้เรามาดูวิธีเลือกซื้อตะเกียงเจ้าพายุมือสองกันครับ ว่าจุดสำคัญควรดูตรงไหนบ้าง
ตะเกียงเจ้าพายุ Col-Max ผลิตโดย Coleman รุ่น 4 ภาษา 500 แรงเทียน |
1.ก้นตะเกียง ตัวนี้ก้นเป็นทองเหลือง สวยเชียว ไม่บวม ไม่มีรอยรั่ว
ก้นตะเกียง เป็นทองเหลือง |
2. หม้อน้ำมัน ตัวนี้เป็นแบบชุบโครเมียม ตรงปั๊มลม เกย์วัดแรงดันลม (ตัวเดียวกับฝาปิดเติมน้ำมัน) และลูกบิด ยี่ห้อสัญญลักษณ์ที่ด้านหน้าของหม้อน้ำมัน…และพยายามมองลึกเข้าไปในกระเช้าด้านล่างที่อยู่ เหนือหม้อว่ามีรอยเชื่อมอุดหรือปะ อะไรหรือเปล่า ตัวนี้ผ่านครับ ยกเว้นลูกบิด เป็นของโมด้า หรือ ตราพาน (พานทอง) ไปแล้ว
Col-Max โดย Coleman |
ที่มาของคำว่า รุ่น 4 ภาษา ตะเกียงเจ้าพายุ Coleman มีภาษาไทยด้วยนะ |
เกจวัด ตรา Coleman |
ปั๊มลม เดิมๆ มีตัวล๊อค |
ลูกบิด ตะเกียงเจ้าพายุ Col-Max เปลี่ยนเป็น ของโมด้า ไปแล้ว |
3. กระเช้า ตัวกระเช้า จนไปถึงหูกระเช้า ที่เราใช้ถือตะเกียง ควรอยู่ในทรงที่ตรงไม่เอียงเบี้ยวหรือหลวม หลักส่งน้ำมัน ต้องไม่เอนหรือคลอน และไม่งอ ตัวนี้แน่นๆ เลยครับ
ตัวกระเช้า Col-Max |
4. หัวใน – หัวนอก เจ้าตัวหัวในเนี่ยมันมีส่วนที่เป็นทองเหลืองอยู่ ส่วนเดียวก็คือ งวงช้างที่มีลักษณะคล้ายตัวยู ฉะนั้นส่วนอื่นจะเป็นเหล็ก ผุกร่อนสนิมกินจนมองไม่เห็น เค้าโครงเดิมเสียส่วนมาก ซึ่งหัวในตัวนี้ไม่น่าจะใช่ของเดิมแล้ว สนิมกินจนผุ แต่ยังสามรถตั้งได้โดยไม่หลวม ไม่มีผลกับการจุดติดไฟผมเลยให้ผ่านสำหรับตัวนี้
หัวใน ตะเกียงเจ้าพายุ ไม่เดิมแล้ว |
หัวนอกตะเกียงเจ้าพายุ |
5. โป๊ะแก้ว ตัวนี้ได้ของเดิมมาคือ ใช้โป๊ะแก้วยี่ห้อ Colex MADE IN U.S.A. ส่วน แฉ่งไม่ได้มาด้วย ไม่เป็นไร เดี๋ยวหายี่ห้ออื่นมาใส่แทนได้
โป๊ะแก้วยี่ห้อ Colex MADE IN U.S.A. |
ทีนี้มาดูประวัติเจ้าตะเกียงเจ้าพายุยี่ห้อ Col-Max กันบ้างครับ
Col-Max Coleman Kerosene Lanterns 1939-1970
ลักษณะอันโดดเด่นของตะเกียงเจ้าพายุ Col-Max ทุกตัวคือ หัวครอบบนเคลือบ Enamelled สีแดงสด กระเช้าและถังน้ำมันชุบนิกเกิลหรือโครเมียม ใช้น้ำมันก๊าด (Kerosene) เป็นตะเกียงชนิดไส้เดี่ยว มีถ้วยแอลกอฮอล์สำหรับอุ่นหลักน้ำมัน ใช้โป๊ะแก้วยี่ห้อ Colex รูปร่างลักษณะคล้ายกับตะเกียงเจ้าพายุ Solar จากประเทศจีน แต่ถ้ามองดูที่ถังน้ำมันก็จะเจอเครื่องหมายการค้า Coleman บริษัทผู้ผลิตตะเกียงชั้นนำจากอเมริกา
ตะเกียงเจ้าพายุ Col-Max ยุคแรกๆ ผลิตขึ้นที่โรงงาน Coleman ในเมือง วิชิต้า ประเทศสหรัฐอเมริกา เมื่อปี ค.ศ. 1939 - 1941 ผลิตในจำนวนจำกัดไม่มากนัก เริ่มต้นด้วยรุ่น 222 ขนาด 200CP และ 333 ขนาด 300CP ผลิตเพื่อส่งออกไปยังประเทศต่างๆ ในยุโรป และเอเซีย รวมถึงประเทศในตะวันออกกลาง ซึ่งที่นิยมใช้ตะเกียงเจ้าพายุแบบ Petromax จากเยอรมัน และด้วยเหตุนี้เองในบางประเทศจึงเรียกตะเกียงเจ้าพายุ Col-Max รุ่นนี้ว่า "European Style" หรือโคลแมนทรงยุโรป
ภายหลังปี ค.ศ.1941 Col-Max ได้ย้ายไปผลิตที่โรงงาน Coleman ในเมืองโตรอนโต ประเทศแคนาดา และตอนนี้ก็มี Version Made in Canada ออกมาจำหน่ายในท้องตลาดโดยใช้เทคโนโลยีแบบเดียวกันกับที่ผลิตในอเมริกา โดยผลิตรุ่น 333 มากกว่ารุ่น 222 งานผลิตล็อตแรกๆยังคงใช้ชิ้นส่วนบางชิ้นจากโรงงาน Coleman ในอเมริกา มาประกอบตะเกียงด้วย จึงทำให้มีตะเกียง Col-Max Coleman Made in USA และ Canada ขายในท้องตลาดพร้อมๆกัน
ในระหว่างปี ค.ศ 1955-1970 ได้ย้ายฐานการผลิตมายังประเทศฮ่องกง (เครือจักรภพ อังกฤษ) และในช่วงนี้เองที่ Col-Max รุ่น 555 ขนาด 500CP ได้ถูกผลิตขึ้น มีทั้ง Version USA, Canada และ Hongkong โดย Version ฮ่องกง ถังน้ำมัน และกระเช้าชุบโครเมี่ยม หัวใน และจานกลมยึดกระเช้าเคลือบ Enamelled สีขาว ฝาปิดน้ำมันแบบมีเกจ์วัดลม อย่างไรก็ตามตั้งแต่ปี ค.ศ 1955 จนถึงปี ค.ศ 1975 ไม่ได้มีการระบุถึงตะเกียง Col-Max Coleman ไว้ในสาระบบของผู้แทนจำหน่ายตะเกียง Coleman อีกเลย
ตะเกียงเจ้าพายุ Col-Max Coleman ทางบริษัทฯ มีนโยบายผลิตเพื่อการส่งออกโดยเน้นกลุ่มเป้าหมาย พ่อค้าขายของตลาดกลางแจ้งในแถบประเทศตะวันออก ชาวประมงในแถบทะเลแปซิฟิคใต้ กลุ่มประเทศอาหรับในตะวันออกกลาง และประเทศอิหร่านก็เป็นกลุ่มเป้าหมายหลักของตะเกียงรุ่นนี้เช่นกัน
ดังนั้นจากข้อมูลของคุณ Thospol แห่งบอร์ด thailantern.com จึงสรุปได้ว่าตะเกียงเจ้าพายุตัวที่ผมได้มานี้เป็นยี่ห้อ รุ่นที่ผลิตในฮ่องกง และเป็นรุ่น 555 ขนาด 500 CP และเป็นรุ่นที่เขาเรียกว่า 4 ภาษา ตามที่ดูจากหม้อน้ำมัน และดูจากกระเช้าชุบโครเมี่ยม จานกลมยึดกระเช้าเคลือบ Enamelled สีขาว และฝาปิดน้ำมันแบบมีเกจ์วัดลม และไม่มีตราปั้ม MADE IN USA หรือ Canada อยู่เลย
โพสหน้าเราจะมาถอดชิ้นส่วนล้างกันครับ และจะได้บูรณะหาอะไหล่ตะเกียงเจ้าพายุตัวนี้ ให้จุดติดให้แสงสว่างกันเสียที รวมถึงจะได้รู้ว่างบประมาณที่ใช้ไปเท่าไหร่กันด้วยครับ
อ่านต่อวิธีการซ่อมแซมบูรณะตะเกียงเจ้าพายุ ให้ใช้งานได้ ตอนที่ 1
ข้อมูลอ้างอิง
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น